SCN ปักธงไม่เกิน 20 ปีไฮโดรเจนมาแน่ เบิกโรงวางงบปีนี้ 300 ล้านเร่งสปีดพัฒนาไฮโดรเจน ปลายปีแล้วเสร็จพร้อมป้อนอุตสาหกรรมเหล็ก-น้ำตาล ก่อนพัฒนาป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ส่วนธุรกิจอีวี เตรียมเจรจาคอนโด-หอพัก-โรงแรม ติดตั้ง EV Charger อำนวยความสะดวกกลุ่มคนรุ่นใหม่
ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ซึ่งทำธุรกิจขนส่งก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทนทั้งโซลาร์เซลล์ และสถานีชาร์จไฟฟ้ายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กล่าวว่าในปี 2567 ตั้งวงเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท โดยจะบุกหนักในผลิตบลูไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมต่างๆ เบื้องต้นเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก และน้ำตาล ขณะนี้กำลังจ้างที่ปรึกษาจากอังกฤษศึกษาความเป็นไปได้ มูลค่าโครงการประมาณ 300 ล้านบาท กำลังผลิต 600 กก.ต่อวันปลายปีนี้จะแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ถือว่า SCN ได้เปรียบ เพราะเรามีวัตถุดิบก๊าซธรรมชาติในมืออยู่แล้ว โดยจะค่อยๆ พัฒนาไฮโดรเจนเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่นต่อไป โดยเฉพาะเชื้อเพลิงในรถยนต์ เพราะเชื่อว่าไฮโดรเจนจะเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคตอย่างแท้จริง ขณะที่อีวีเป็นเพียงช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานเท่านั้น ซึ่งในช่วงนี้ไฮโดรเจนกำลังถูกพัฒนาไปพร้อมๆกัน และไม่เกิน 20 ปีข้างหน้าจะเป็นตลาดของไฮโดรเจน เพราะเป็นเซลล์เชื้อเพลิงที่ตอบโจทย์ทุกอย่างโดยเฉพาะหากเป็นกรีนไฮโดรเจนผลิตจากพลังงานสะอาด และยังไม่ต้องใช้แบตเตอร์รี่ด้วย
ในส่วนของวงเงินลงทุนที่เหลือจะเป็นการลงทุนในธุรกิจ EV Charger โซลาร์โฮม โดยจะเข้าไปทำสถานีชาร์จอีวี (EV Charger) ในคอนโดมิเนียม หอพัก โรงแรม เรียกว่า “Private PPA” ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเข้าเจรจาเจ้าของพื้นที่ 20 แห่งในย่านกรุงเทพ พัทยา และระยอง ลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท โครงการนี้ให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) อยู่ที่ราว 20% โดย SCN จะใช้วิธีซื้ออุปกรณ์จากแบรนด์ที่ทำอยู่แล้ว เช่น แบรนด์ EV Charger ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น มาติดตั้ง ราคาค่าชาร์จน่าจะอยู่ราวๆ 7 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง
“คิดว่าการตั้ง สถานีชาร์จอีวี ตามคอนโดมิเนียม หอพักที่เป็นศูนย์รวมที่พักของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ หรือโรงแรมน่าจะตอบโจทย์กว่าการไปตั้งจุดชาร์จที่ปั้ม หรือห้างสรรพสินค้า โดยเราจะเจรจากับคอนโดมิเนียหอพักและโรงแรมเพื่อเข้าไปติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มเติม “
อีกเป้าหมายสำคัญของ SCN ในปีนี้ คือการนำบริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด (SAP) เข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI ในปี 2567 Market Capitalization หรือ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดน่าจะอยู่ราวๆ 1,000-2,000 ล้านบาท บริษัทนี้จะเป็นธงนำในกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันมีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วกว่า 29 โครงการ รวมกำลังผลิตในมือกว่า 23 เมกะวัตต์ ซึ่งในปี 2566 มีกำไรเติบโตกว่า 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สำหรับธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ ได้อานิสงส์บวกจากปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการร่วมทุนกับบริษัท ชิซูโอกะ ก๊าซ ซึ่งเป็นหนึ่งบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ได้เข้ามาช่วยเพิ่มยอดขายให้กับบริษัท ขณะเดียวกันเราก็คว้างานประมูลขนส่ง ปตท. ทำให้ขึ้นแท่นผู้ขนส่งก๊าซธรรมชาติ อันดับ 1 ของประเทศ โดยมีปริมาณขนส่งรวมอยู่ที่ 1 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ทั้งใน 6 พื้นที่ ได้แก่ ลาดหลุมแก้ว ลำลูกกา สามโคก (2 เขต) เชียงรากน้อย กิ่งแก้ว ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานและรับรู้รายได้จากสัญญาใหม่นี้ครบทุกพื้นที่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
ส่วนธุรกิจจ้างเหมาก่อสร้างยังเติบโตต่อเนื่อง โดยปีที่แล้ว บริษัทฯ ได้ชนะการประมูลงานก่อสร้างและปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ เช่น บางจาก รวมถึงรับเหมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) โดยมีมูลค่าสัญญารวมกว่า 222 ล้านบาท ทั้งนี้การเติบโตในทุกธุรกิจของบริษัทจะทำให้ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้เพิ่ม 20% จากปี 2566 ที่มีรายได้ 1,878 ล้านบาท
นอีกธุรกิจที่เพิ่งเป็นรูปร่างเมื่อต้นปีนี้ คือ การปลูกกัญชาแบบอินดอร์หรือแบบปิดเป็น Medical Grade ดำเนินการภายใต้บริษัท พืชเภสัชกรรม จำกัด หรือ Pharmaceutical Plant ซึ่ง SCN ได้ถือหุ้นอยู่ 41% สามารถผลิตได้อยู่ 50 กก.ต่อไตรมาส ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะขยายกำลังผลิตโดยเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกบนพื้นที่เท่าเดิมคือ 4,000 ตรม. โดยจะเพิ่มปริมาณได้ 50 กก.ต่อเดือน และ 70 กก.ต่อเดือน ซึ่งสายพันธุ์และการดูแลทำให้กัญชาของเราเป็นที่ต้องการของตลาด ด้วยราคาจำหน่าย 65,000 บาทต่อกก. ขณะที่กัญชาที่ปลูกระบบเปิดราคา 20,000 บาทต่อกก. โดยคาดว่าจะสร้างรายได้อย่างชัดเจนให้กับบริษัทในปีหน้าราว 50 ล้านบาท โดยเราเป็นคนขายส่งขายให้กับร้านจำหน่ายทั่วไปที่มีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติเป็นหลัก
วันที่ออกข่าว: 2 มีนาคม 2567